วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2557

พิมพ์งานขั้นเบสิค ตอนที่ 4

เครดิตภาพ : http://www.learnkeyboardtyping.com/keyboard-sides.gif

   เอาละครับ มาถึงคีย์สำคัญที่หลายคนชอบใชักันมากนั้นก็คือคีย์สำหรับตัดแปะ การตัดแปะข้อความเป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน เนื่องจากอิทธิพลสำคัญของอินเทอร์เน็ต ส่วนมากเมื่อมีการค้นหาข้อมูลที่ต้องการแล้ว ก็จะตัดเอาเฉพาะเนื้อหาส่วนที่ต้องการไปไว้ในโปรแกรมพิมพ์งานเพื่อเซฟไปทำอะไรอย่างอื่นต่อไปอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่ฮือฮากันเป็นระยะ เพราะพวกนักเรียนนักศึกษาสมัยนี้มักจะทำรายงานโดยการตัดเนื้อหาจากอินเทอร์เน็ตไปใช้ในการทำรายงานส่งครู โดยที่ไม่ได้ศึกษาทำความเข้าใจอะไรเลย จึงเกิดการแอนตี้กันขึ้น ทั้งจากฝ่ายครูและก็ฝ่ายนักเรียนที่เห็นว่าการทำอย่างนี้มันไม่ถูกต้องนั่นแหละ (เอาละ ออกทะเลไปอีกแล้ว) 
  ขั้นตอนของการตัดแปะก็คือ เลือกข้อความที่ต้องการจากเอกสารต้นฉบับ ถ้าเป็นเอกสารที่เปิดในโปรแกรมพิมพ์ข้อความก็ไม่ยาก ใช้วิธีเลื่อนคอร์เซอร์ไปที่หน้าตัวอักษรตัวแรกของข้อความแล้ว กด Shift ค้างไว้ จากนั้นก็กดปุ่มลูกศรขวาค้างไว้ เพื่อให้โปรแกรมเลือกข้อความต่อไปเรื่อยๆ จนจบข้อความตามที่ต้องการ (ส่วนมากใช้ถนัดใช้เมาส์คลิกแล้วลากไปเรื่อยๆ) จากนั้นก็กด Ctrl ค้างไว้แล้วกด C ก็จะเป็นการสั่งให้คอมพ์คัดลอกข้อความเข้าไปไว้ในหน่วยความจำของเครื่องไว้ก่อน (เซียนเมาส์จะใช้คลิกขวาแล้วเลือก Copy หรือ คัดลอก) จากนั้นก็เข้าไปยังเอกสารที่ต้องการแปะข้อความ ซึ่งเปิดไว้แล้วหรือจะเปิดขึ้นมาใหม่ก็แล้วแต่ แล้วเลื่อนคอร์เซอร์(หรือใช้เมาส์คลิก)ไปยังจุดที่ต้องการวางข้อความลง แล้วกด Ctrl ค้างไว้ แล้วกด V (เซียนเมาส์เขาคลิกขวาแล้วเลือก Paste หรือ วาง) ข้อความก็เพิ่มเข้าไปยังจุดที่ต้องการ แค่นี้เองง่ายๆ ถ้าถามว่าใช้ปุ่มกับใช้เมาส์อันไหนดีกว่ากัน มันก็แล้วแต่คนถนัด แต่คนที่ใช้ปุ่มถนัดนี่จะเป็นพวกที่ใช้คีย์บอร์ดคล่อง มันก็เลยมาคู่กับการพิมพ์งานได้เร็วกว่ากันด้วย
   สรุปปุ่มคีย์ลัดก็คือ
   Shift+ลูกศรขวา ใช้เลือกข้อความไปข้างหน้าเรื่อย
   Shift+ลูกศรซ้าย ใช้เลือกข้อความถอยหลัง (ได้มาอีกตัวแล้ว) และในกรณีที่เลือกไปข้างหน้าจนเลยจุดที่ต้องการก็ใช้ถอยกลับมาได้ด้วย
   Ctrl+C ใช้สำหรับคัดลอกข้อความที่เลือกไว้
   Ctrl+X ใช้สำหรับตัดข้อความที่เลือกไว้ ซึ่งจะไปค้างอยู่ในหน่วยความจำเหมือนกัน Ctrl+C ต่างจาก Ctrl+C ตรงที่ข้อความเดิมจะหายไปด้วย ไว้สำหรับตัดต่อเอกสารได้ง่าย
   Ctrl+V ใช้สำหรับวางข้อความที่คัดลอกหรือตัดมาแล้ว โดยที่มีข้อแม้ว่าห้ามไปตัดลอกหรือตัดอะไรอย่างอื่นมาคั่น ไม่เช่นนั้นข้อความที่ตัดหรือคัดลอกมาจะหายไปจากหน่วยความจำไม่สามารถนำมาใช้ได้
  การใช้วิธีการตัดแปะเหมาะสำหรับการปรับแต่งเอกสาร หรือคัดลอกข้อความหรือคำมาแปะในส่วนต่างๆ ของเอกสารเพื่อจะได้ไม่ต้องมาพิมพ์ใหม่อยู่ตลอดเวลา ในกรณีที่มีการใช้ข้อความหรือคำซ้ำๆ กันในเอกสารเดียวกัน

   นอกจากนี้แล้ว คีย์ลัดสำหรับตัดแปะยังสามารถใช้กับโปรแกรมจัดการไฟล์ได้ด้วย คือในกรณีที่เราต้องการคัดลอกไฟล์จากเครื่องไปใส่ในแฟลชไดร์ฟหรือไดร์ฟอื่นๆ เช่น เราเลือกไฟล์จากแฟลชไดร์ฟ อาจจะไฟล์เดียว หรือหลายๆ ไฟล์ (ใช้วิธีเลือกไฟล์แรกก่อน แล้วกด Ctrl ค้างไว้ จากนั้นก็ คลิกเลือกไฟล์อื่นๆ เพิ่มอีก หรือใช้คีย์ลูกศรเลื่อนไปยังไฟล์ที่ต้องการแล้วกดสเปซบาร์เพื่อเลือกไฟล์เพิ่มก็ได้) แล้วกด Ctrl+C หรือ Ctrl+X แล้วแต่จะใช้คัดลอกหรือตัด จากนั้น ก็เปิดไปยังโฟลเดอร์ที่ต้องการใส่ข้อมูลเข้าไปแล้วกด Ctrl+V เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จ

  เห็นไหมครับว่าคีย์ลัดพวกนี้มีประโยชน์มากในการใช้งาน ซึ่งสามารถใช้งานแบบได้ทุกเครื่องทุกระบบเพราะได้มีการกำหนดมาตรฐานกลางไว้เรียบร้อยแล้ว
  เรื่องของคีย์ลัดนี้ยังมีอีกหลายตัวที่ใช้กันบ่อยๆ ตอนนี้ก็จะพูดถึงแค่นี้ก่อน แล้วจะค่อยๆ แทรกเข้ามาในบทความอื่นๆ อีกตามวาระและโอกาส ซึ่งน่าจะมีแทรกอยู่เรื่อยๆ เพราะเป็นวิธีการที่น่าใช้ซึ่งสามารถทำให้เราพิมพ์งานได้เร็วขึ้น พิมพ์งานได้เก่งไม่อายคนอื่นเขา
   แล้วพบกันที่บทความหน้าครับ

วันเสาร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2557

พิมพ์งานขั้นเบสิค ตอนที่ 3


ภาพจาก http://i134.photobucket.com/albums/q95/TheOutcaste/Support/PrintScreenKey1.jpg

   มาว่ากันต่อถึงเรื่องคีย์ลัด ในตอนที่ 3 กันครับ
   มีชุดคีย์อีกชุดหนึ่งที่อยู่เหนือชุดคีย์ลูกศรที่ว่าไปแล้ว ตามภาพจะเห็นว่ามีคีย์อยู่ 9 ปุ่มด้วยกัน ซึ่งสามารถนำมาใช้ในเวลาพิมพ์งานเพื่อให้ทำงานได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น คีย์บอร์ดส่วนมากจะมีการจัดวางคีย์ชุดนี้ไว้เหนือชุดคีย์ลูกศรอย่างที่ว่า แต่ก็อาจจะวางต่ำแหน่งคีย์ไว้ต่างกันบ้าง ไปดูกันเลยว่าแต่ละคีย์ใช้ทำอะไร
   ปุ่มแรกคือ Print Screen/SysRq เป็นปุ่มลัดที่เอาไว้จับภาพบนหน้าจอในขณะที่กำลังทำงานอยู่ เพื่อบันทึกไว้เป็นรูปภาพ ให้สามารถนำไช้กับโปรแกรมอื่นๆ ได้ ไว้สำหรับบันทึกภาพหน้าจอต่างๆ ที่เราต้องการ
   ปุ่ม Scroll Lock สมัยนี้ไม่ค่อยได้ใช้กันแล้ว นิยมใช้กันสมัยดอสรุ่งเรืองโน่นเลย สมัยก่อนเอาไว้ใช้ล็อกชุดปุ่มลูกศร เพื่อสลับโหมดให้สามารถใช้ชุดปุ่มลูกศรในการเลื่อนเคอเซอร์ของเมาส์ได้
   ปุ่ม Pause Break ใช้สำหรับหยุดการทำงานของโปรแกรมในดอส ปัจจุบันแทบไม่ได้ใช้งานกันแล้ว
   สามปุ่มนี้บนคีย์บอร์ดบางรุ่นอาจจะจับไปไว้ด้านบนข้างๆ ปุ่ม F12 ก็มีเหมือนกัน แต่อีก 6 ปุ่มที่เหลือก็ยังจัดให้รวมกันอยู่   
   ปุ่ม Insert ใช้สำหรับในกรณีที่เราต้องการพิมพ์ทับตัวอักษรที่อยู่ข้างหน้า ตามปกติถ้าเราเลื่อนคอร์เซอร์ไปยังจุดต่างๆ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมข้อความอะไรๆ แล้ว เมื่อเราพิมพ์ตัวอักษรลงไปตัวอักษรมันก็จะไปแทรกอยู่ตรงจุดนั้น แต่ถ้ากดปุ่ม Insert ก่อนแล้วพิมพ์ตัวอักษรลงไป ตัวอักษรตัวไหม่ก็จะถูกแทรกเข้าไปพร้อมกับลบตัวอักษรข้างหน้าออกอีกทีละตัวด้วย ถ้าต้องการให้กลับมาอยู่ในโหมดปกติก็กดปุ่ม Insert อีกครั้งก็เป็นอันใช้ได้ เป็นอันว่าปุ่มนี้ก็ใช้สำหรับกรณีที่เราต้องการพิมพ์ทับตัวอักษรที่อยู่ถัดไปนั่นเอง
   ปุ่ม Delete ใช้สำหรับลบตัวอักษรที่อยู่ข้างหน้าทีละตัว เป็นปุ่มที่ใช้งานได้หลากหลาย เพราะในการใช้งานคอมทั่วไป อย่างในการจัดการไฟล์ ปุ่มนี้ก็ใช้สำหรับลบไฟล์ที่เราเลือกไว้นั่นเอง ส่วนในการพิมพ์เอกสารในโปรแกรม สามารถใช้ลบตัวอักษรที่อยู่ถัดไปได้ทีละตัว ถ้าสุดบรรทัดแล้วก็สามารถลบบรรทัด ลบอะไรได้ทุกอย่างที่อยู่ถัดจากคอร์เซอร์ จนกว่าจะไปถึงสิ้นสุดของเอกสารเลยทีเดียว
   ปุ่ม Home ใช้สำหรับเลื่อนคอร์เซอร์ไปที่จุดแรกของบรรทัด ถ้าใช้ปุ่ม Ctrl มาร่วมด้วยคือกด Ctrl+Home ก็จะเป็นการเลื่อนคอร์เซอร์ไปยังจุดแรกสุดของเอกสาร
   ปุ่ม End ก็จะกลับกันกับปุ่ม Home คือใช้สำหรับเลื่อนคอร์เซอร์ไปยังจุดสุดท้ายของบรรทัด ถ้าใช้ Ctrl+End ก็จะเป็นการเลื่อนคอร์เซอร์ไปยังจุดสุดท้ายของเอกสาร ซึ่งไม่เกี่ยวว่าตรงนั้นจะมีตัวหนังสือหรือไม่เพราะอาจจะมีการกดแท็ปเลื่อนคอร์เซอร์ไปแล้ว หรือกด Enter เลื่อนบรรทัดไปแล้ว โดยที่ยังไม่มีการพิมพ์อักษรอะไรใส่เข้าไปก็ได้ ดังนั้น บางทีจึงอาจจะเห็นว่าเมื่อเลื่อนไปแล้วคอร์เซอร์จะไปอยู่ที่จุดที่ไม่มีตัวอักษรอะไรอยู่ข้างหน้าเลยก็ได้
   ปุ่ม Page Up ใช้สำหรับเลื่อนมุมมองขึ้นไปข้างบน (หรือถอยหลัง) ครั้งละ 1 หน้า อันนี้ไม่เกี่ยวกับคอร์เซอร์ของเมาส์นะครับเป็นเพียงแต่การเลื่อนมุมมองเท่านั้น คอร์เซอร์ยังอยู่ที่เดิม ถ้าเลื่อนหน้าไปแล้ว อยากเลื่อ่นคอร์เซอร์ไปยังจุดใดในหน้านั้นก็ต้องชี้เมาส์พอยต์ไปกดที่จุดที่ต้องการอีกทีหนึ่ง
   ปุ่ม Page Down ก็กลับกันกับ Page Up คือเลื่อนมุมมองไปข้างล่าง (หรือเดินหน้า) ครั้งละ 1 บรรทัด ถ้าเลื่อนไปเรื่อยๆจนถึงหน้าสุดท้ายก็จะเลื่อนต่อไปไม่ได้อีก

   ตามที่ว่ามาก็เป็นปุ่มที่ใช้กันเป็นหลักในการพิมพ์เอกสารในโปรแกรมต่างๆ ซึ่งถ้าคุณฝึกทักษะให้สามารถใช้ให้คล่องแคล่วดีแล้ว การพิมพ์งานก็เป็นเรื่องชิลๆ ไม่น่าหนักใจแต่ประการใด (แต่เรื่องขี้เกียจเป็นเรื่องของอารมณ์ไม่เกี่ยวกับทักษะนะครับ)
   ยังมีตอนสุดท้ายอีกหนึ่งตอนสำหรับเรื่องปุ่มลัด ซึ่งเป็นเทคนิคสุดยอดอีกประการหนึ่งที่จะทำให้คุณเลื่อนขั้นไปเป็นเซียนได้ โปรดติดตามตอนต่อไป

วันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2557

พิมพ์งานขั้นเบสิค ตอนที่ 2

ภาพจาก http://www.clickykeyboard.com/_ebay/ibm_55323685l-001/ibm_553236475l-003.jpg

  ตอนที่แล้วว่าไปถึงเรื่องเบสิคขนานแท้ของการพิมพ์งาน ซึ่งเป็นหลักเบื้องต้นจากการพิมพ์สัมผัสของการใช้พิมพ์ดีดนั่นเอง
   ตอนนี้เราก็จะมาต่อถึงคีย์ที่ไม่มีในพิมพ์ดีดกันบ้าง โดยจะกล่าวถึงคีย์ที่ใช้ในการพิมพ์ทั่วไปก่อนนะครับ
   คีย์ Shift มีความหมายเหมือนกับปุ่มยกแคร่ของพิมพ์ดีด เนื่องจากพิมพ์ดีดมีการออกแบบที่มีตัวพิมพ์สองชุดโดยใช้แคร่พิมพ์ชุดเดียวกัน เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนตัวอักษรที่มีใช้งาน สำหรับปุ่มยกแคร่ในภาษาไทยก็จะเป็นการเปลี่ยนไปใช้ชุดอักษรตัวบนของคีย์ ถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็ใช้สำหรับการพิมพ์ตัวอักษรใหญ่ในกรณีที่ขึ้นประโยคใหม่หรือคำศัพท์ที่ใช้เป็นคำนามนั่นเอง
   คีย์ Caps Lock คือการล็อคคีย์ยกแคร่ค้างไว้เพื่อพิมพ์อักษรแถวบนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะยกเลิกการล็อก ในพิมพ์ดีดก็จะมีระบบเฟืองล็อกแคร่ได้เหมือนกัน แต่ในคอมพ์ล็อกด้วยระบบดิจิตอลจึงดูมีลักษณะไม่เหมือนกัน
   แล้วก็คีย์ที่สำคัญอีกคีย์หนึ่งก็คือคีย์สำหรับเปลี่ยนภาษา ตามธรรมดาคนที่ใช้คอมพ์ส่วนมากจะคุ้นเคยกับการใช้คีย์ ตัวหนอน (Tilde) สำหรับการสลับภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ (หรือภาษาอื่นๆ ที่ตั้งไว้) ทั้งนี้ก็เนื่องจากในวินโดวส์รุ่นก่อนๆ ของไมโครซอฟต์ (น่าจะเป็นรุ่น 95) ได้กำหนดให้คีย์นี้เป็นคีย์สำหรับเปลี่ยนภาษาของแป้นคีย์บอร์ด แต่ภายหลังได้มีการกำหนดมาตรฐานในการใช้คีย์บอร์ดขึ้นให้มีรูปแบบเป็นมาตรฐานเดียวกัน ได้ตกลงกันว่าใช้ปุ่ม Alt+Shift เป็นปุ่มสำหรับเปลี่ยนภาษา (หมายถึงกด Alt กับ Shift พร้อมกัน หรือกด Alt ค้างไว้แล้วกด Shift ก็ใช้ได้ หรือกด shift ค้างไว้แล้วกด Alt ก็ใช้ได้เหมือนกัน ยิ่งพูดยิ่งงงอะดิ 555) อันนี้เป็นมาตรฐานสากลที่เขากำหนดไว้สำหรับใช้กับระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ทุกระบบปฏิบัติการนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องที่ใช้ไมโครซอฟต์วินโดวส์ หรือเครื่องแม็ค หรือเครื่องที่ใช้ลีนุกซ์ก็ใช้มาตรฐานเดียวกัน แต่ไม่ว่าระบบปฏิบัติการไหนก็สามารปรับแต่งให้ใช้คีย์อื่นๆ มาเป็นคีย์สำหรับสลับภาษาคีย์บอร์ดได้ทั้งนั้นแหละ ดังนั้น จึงปรากฎว่าส่วนมากก็ยังตั้งให้ใช้ปุ่มตัวหนอนเป็นปุ่มสำหรับสลับภาษากันอยู่เหมือนเดิม แต่ถ้าวันไหนเกิดคุณไปใช้เครื่องของคนอื่นแล้วกดปุ่มตัวหนอนสลับภาษาไม่ได้ก็ลองใช้ Alt+Shift ดูนะครับ แล้วก็อย่าไปเถียงเขาละว่าเขาตั้งค่าอะไรไว้ผิดหรือเปล่า เพราะค่ามาตรฐานสากลเขากำหนดกันมาไว้อย่างนี้แล้ว บางคนอาจสงสัยว่าทำไมต้องไปตั้งมาตรฐานให้เป็นตัวอื่น ไม่ใช้ตัวเดิมไปเลยล่ะ หาคำตอบมาได้ว่า เนื่องจากตัวอักษรตัวหนอนนั้นเขาใช้ในการเขียนโปรแกรมกันอยู่น่ะสิครับ มันไม่ใช่ตัวอักษรที่โผล่มาสำหรับเป็นปุ่มเปลี่ยนคีย์มาตั้งแต่แรกแล้ว ในวินโดวส์ของไมโครซอฟต์อาจจะไม่ค่อยมีการใช้เท่าไหร่ แต่ในระบบอื่นเขาก็จำเป็นต้องใช้กันทั้งนั้น ดังนั้นจึงต้องกำหนดปุ่มอื่นเป็นมาตรฐ่านสากลแทนอย่างทีเห็น
   เอ้าเลี่ยวเข้าป่าเข้าดงไปนานแล้ว กลับมาว่าถึงเเรื่องคีย์กันต่อนะครับ
   ปุ่มต่อไปนี้เป็นปุ่มสำคัญที่ใช้กันเป็นทุกคนก็คือปุ่ม Enter อันนี้แม้แต่เซียนเมาส์ถ้าหัดใช้ปุ่มนี้ให้คล่อง คุณจะลืมเมาส์ไปเลยก็ได้ ปุ่ม Enter นี้เรียกกันในแวดวง PC คือเครื่องที่ใช้ไมโครซอฟต์วินโดวส์นะครับ ถ้าเป็นยูนิกซ์อย่างเครื่องแม็คหรือลีนุกซ์เขาเรียกปุ่มนี้ว่าปุ่ม "Return" เพราะฉะนั้นถ้าเกิดมีใครบอกว่าให้กดปุ่ม Return ก็จำให้มั่นไว้เลยว่าก็ปุ่มอันเดียวกันกับปุ่ม Enter นั่นแล สมัยก่อนเค้าเอาไว้สั่งงานกันครับ เพราะใช้คอมแบบที่เป็นระบบพิมพ์คำสั่งกัน (สมัยนี้ก็ยังใช้อยู่ โดยเฉพาะในวงการยูนิกซ์) พอพิมพ์คำสั่งเสร็จก็กด Enter เพื่อให้คอมพ์ทำตามคำสั่งที่เราพิมพ์ไว้นั่นแหละ ในการพิมพ์งานก็เป็นการขึ้นบรรทัดใหม่ เหมือนกันปัดแคร่ขึ้นบรรทัดของพิมพ์ดีดนั่นแอง โดยกดครั้งหนึ่งก็ขึ้นบรรทัดใหม่ให้หนึ่งบรรทัด เพราะฉะนั้นถ้ากดซ้ำๆ กันหลายครั้งโปรแกรมก็จะขึ้นบรรทัดใหม่ไปเรื่อยๆ ตามจำนวนครั้งที่กด เอาไว้สำหรับเว้นว่างหน้ากระดาษนั่นแหละครับ  ส่วนการใช้งานทั่วไป โดยเฉพาะในการเล่นเน็ตเวลาจะเสิร์ชหาข้อมูลในกูเกิล พอพิมพ์คำศัพท์เสร็จก็กด
Enter เลย จะทำให้ประหยัดเวลาไม่ต้องมาคลำหาเมาส์ไปเลื่อนหาปุ่มต่างๆ ซะให้ยาก
   เอ้า  มาซะตั้งยาว คงต้องไปต่อภาคสามกันอีกครั้งสำหรับเรื่องปุ่มๆ นี่นะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2557

พิมพ์งานขั้นเบสิค

ภาพประกอบจาก http://www.mostsupplies.co.za/web/images/modules/catalogue/stationery/comp%20consumables/computer_keyboard_keys.jpg
*************************
 
 ก่อนจะเข้าไปสู่การใช้งานโปรแกรม ก็มีคำแนะนำอย่างหนึ่งว่าในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น ถ้าคุณคล่องเบสิคหรือทักษะขั้นต้นของคอมพิวเตอร์แล้ว คุณจะสามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้คล่องแคล่วไปทุกเครื่อง โดยที่ไม่ต้องสนว่าคุณกำลังใช้โปรแกรมอะไรอยู่ นอกจากว่าโปรแกรมที่ว่ามันเป็นโปรแกรมเฉพาะทางที่ต้องเรียนรู้ในขั้นสูงกันจริงๆ เท่านั้น
   เบสิคที่ว่าก็คือการใช้คีย์บอร์ดให้คล่อง อาจจะมีคนถามแย้งว่าฟังดูเหมือนมันง่ายๆ แค่นั้นเองเหรอ แค่คีย์บอร์ดเนี่ยนะ คนที่พิมพ์สัมผัสได้ก็ใช้คอมได้คล่องแล้วสิ  ตอบได้เลยว่า แค่พิมพ์สัมผัสมันก็เป็นแค่ทักษะอย่างหนึ่งเท่านั้น คำว่าใช้คีย์บอร์ดให้คล่องหมายถึงคุณต้องรู้จักใช้สิ่งที่เรียกกันว่า คีย์ลัด หรือ hotkey ซึ่งเป็นการใช้คีย์บอร์ดในการสั่งงานโปรแกรมในคำสั่งต่างๆ
    ปัจจุบัน คนใช้คอมพ์ส่วนมากจะติดเมาส์กันไปหมด อะไรๆ ก็คลิกๆๆๆๆๆๆๆ ทำให้ทักษะการใช้คีย์บอร์ดมีคนที่ใช้เป็นยังไม่มากพอสมควร ต้องคนที่สนใจใฝ่รู้จริงๆ ถึงจะรู้จัก
    เริ่มต้นจากคีย์พื้นๆ ก่อน อย่างแรกคือคีย์ลูกศรขึ้น ลง ซ้าย ขวา นั้นแหละ ธรรมดาก็รู้ๆ กันอยู่เพียงแต่เราไม่คิดว่ามันเป็นคีย์ลัดอะไร เราใช้ในการเลื่อนคอร์เซอร์ในการแก้ไขตัวอักษร โดยเลื่อนไปข้างหน้าข้างหลังทีละตัวอักษร หรือเลื่อนขึ้นลงทีละบรรทัดเพื่อไปลบหรือแก้ไขข้อความหรือตัวอักษรที่ต้องการได้ อันนี้ใช้คล่องกันอยู่แล้ว
    ต่อมาก็คีย์ Backspace คือไม่รู้ภาษาไทยเรียกอะไรส่วนมากก็เรียกทับศัพท์กันไปเลย คือคีย์ที่เป็นลูกศรกลับหลังเหมือนกันกับคีย์ลูกศรซ้าย แต่ไม่ได้อยู่รวมกับคีย์สี่ตัวที่ว่ามาแล้ว เป็นคีย์ลูกศรกลับหลังที่อยู่ข้างๆ คีย์อักษรตัว ข หรือ \ ถ้าใครเคยใช้พิมพ์ดีดจะรู้ว่าคีย์นี้ในพิมพ์ดีดใช้ในการถอยหลังไปยังอักษรที่ต้องการ แล้วลบด้วยปากกาลบคำผิดก่อนจะพิมพ์ตัวอักษรเข้าไปใหม่ แต่ในแป้นคอมพ์ใช้สำหรับลบตัวอักษรถอยหลังได้ทีละตัว ใช้ในกรณีที่เราพิมพ์ผิดแล้วต้องการลบ ถ้าเป็นข้อความที่เราเพิ่งพิมพ์ก็กดลบได้เลย แต่ถ้ามันเลยมาไกลก็กดกกคีย์ลูกศรซ้ายในชุดคีย์ลูกศรสี่ตัวนั่นแหละ ถอยหลักไปที่ละอักษรเพื่อไปยังจุดที่สามารถลบตัวอักษรที่ต้องการได้ หรือจะเอาเมาส์เลื่อนคอร์เซอร์ไปยังจุดที่ต้องการก็ไม่เป็นการทำผิดแต่ประการใด แต่แนะนำว่าใช้คีย์ลูกศรให้คล่องๆ ไว้แหละดีแล้ว เผื่อวันดีคืนดีเมาส์มันรวนจะได้ไม่ต้องเสียอารมณ์
    คีย์ต่อมาที่ใช้กันบ่อยๆ ก็คือคีย์ TAB หรือแท็ป ใช้สำหรับเลื่อนย่อหน้า แต่ใช้ได้กับโปรแกรมพิมพ์งานเท่านั้นนะครับ อย่างตอนที่เขียนบล็อกอยู่นี่ใช้แท็ปไม่ได้เพราะฟังค์ชันโปรแกรมไม่รองรับ ในโปรแกรมพิมพ์งานทั่วไปก็มีการตั้งแท็ปไว้แล้วโดยอัตโนมัติ ของเวิร์ดน่าจะแท็ปละ 1 ซม. ถ้าไม่ไปตั้งใหม่มันก็จะตั้งอย่างนั้นทั้งเอกสารนั่นแหละ แต่ถ้ามีการตั้งแท็ปเยอะๆ เนี่ยมันจะมั่วไปหมด เพราะฉะนั้น เวลาพิมพ์เอกสารจริงๆ ก็อย่าพยายามตั้งแท็ปตามใจตัวเองมากนัก มันจะมีผลในตอนที่เรามาแก้เอกสารที่หลังนี่แหละ รับรองได้นั่งกุมหัวอยู่ทั้งวันแน่
    อีกคีย์หนึ่งที่ใช้เป็นทุกคนคือคีย์ Space Bar ภาษาพิมพ์ดีดเรียกว่า คันยาว เพราะมันยาวกว่าคีย์อื่น ในพพิมพ์ดีดมีคีย์นี่แหละที่ไม่เท่ากับคีย์อื่นที่มีขนาดเท่ากันหมด ถึงแม้ในแป้นพิมพ์คอมพ์มีคีย์เพิ่มมาอีกหลายขนาด แต่ก็ยังเป็นคีย์ที่ยาวกว่าเพื่อนอยู่ดี อันนี้สำหรับเว้นวรรคข้อความ โดยเว้นวรรคเคาะละตัวอักษร ส่วนแป้นแท็บจะเว้นวรรไปตามแท็ปที่ตั้งไว้แล้ว
   คีย์พวกนี้ที่ว่ามา นอกจากคีย์ลูกศรสี่ทิศที่พูดถึงตอนแรกสุด ที่เหลือเป็นคีย์ที่ใช้กับพิมพ์ดีดทั่วๆ ไปมาตั้งแต่ต้น ส่วนมากก็ใช้เหมือนพิมพ์ดีด ที่จะมีแปลกไปนิดก็คีย์ถอยหลังนั่นแหละที่ใช้ไม่เหมือนกัน
    ตอนนี้ก็พักไว้ก่อน  ตอนหน้าจะพูดถึงคีย์อื่นๆ ที่น่าใช้บนแป้นพิมพ์กันต่อ
   

วันพุธที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2557

LibreOffice ทำอะไรได้บ้าง

ในตอนนี้เราจะมาพูดถึงส่วนประกอบหรือโปรแกรมต่างๆ ในชุดของ LibreOffice ที่มีให้เราใช้งานกัน โดยที่ตอนนี้เราจะยังไม่พูดไปถึงการใช้งานนะครับ เป็นการแนะนำโปรแกรมที่มีให้ใช้งานเท่านั้น

       เมื่อเราเปิดเข้าไปในโปรแกรมหลักคือ LibreOffice นั้น จะเป็นการเปิดเข้าไปยังโปรแกรมที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของ LibreOffice ซึ่งเราจะสามารถเรียกใช้โปรแกรมต่างๆ ได้จากโปรแกรมหลักตัวนี้
      ตามภาพที่เห็นจะเห็นว่ายังเป็น LibreOffice เวอร์ชัน 3 อยู่เลย ซึ่งก็ไม่เป็นไรเพราะในเวอร์ชัน 4 ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน  เราจะเห็นว่ามีแถบเรียกใช้งานโปรแกรมต่างๆ ปรากฎให้เห็นซึ่งเป็นข้อความให้เราเลือกว่าจะทำอะไร เมื่อเราคลิกตัวเลือกที่ต้องการก็จะไปเรียกใช้โปรแกรมในชุดของ LibreOffice นั่นเอง เรามาดูกันทีละตัวว่าโปรแกรมไหนใช้ทำอะไรได้บ้างนะครับ
      Text Document จะเรียกใช้โปรแกรม LibreOffice Writer ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับพิมพ์เอกสารทั่วไป เหมือนกับ Microsoft Word นั่นเอง สามารถเปิดใช้งานของ Word ได้ โปรแกรมนี้เราสามารถเรียกใช้โดยตรงได้จากเมนูโปรแกรมย่อยของ LibreOffice     
      Spreadsheet จะเรียกใช้โปรแกรม LibreOffice Calc ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับการจัดรูปแบบตาราง เหมือนกับ Microsoft Excel สามารถเปิดใช้งานไฟล์ Excelได้  โปรแกรมนี้เราสามารถเรียกใช้โดยตรงได้จากเมนูโปรแกรมย่อยของ LibreOffice  เช่นเดียวกัน
      Presentation จะเรียกใช้โปรแกรม LibreOffice Impress ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับสร้างเอกสารนำเสนองานเหมือนกับ Microsoft Powerpoint   สามารถเปิดใช้งานไฟล์ Powepoint ได้ โปรแกรมนี้เราสามารถเรียกใช้โดยตรงได้จากเมนูโปรแกรมย่อยของ LibreOffice  เช่นเดียวกัน     
      Drawing จะเรียกใช้โปรแกรม LibreOffice Draw ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับวาดภาพ  ซึ่งเป็นโปรแกรมที่เป็นเอกลักษณ์ของ LibreOffice โดยเฉพาะ สามารถนำเอาออฟเจ็คค์ต่างๆ ที่สร้างสามารถสร้างจากโปรแกรมอื่นๆ ในชุดออฟฟิศมารวมในเอกสารเดียวกันได้  สามารถเปิดงานกราฟฟิคได้หลายรูปแบบทั้งเวคเตอร์กราฟฟิคไฟล์ ไฟล์ของ Photoshop รวมไปถึงไฟล์ของ Autocad  ด้วย แต่ก็ใช้ทำงานได้ในลักษณะของโปรแกรมวาดภาพเท่านั้น โปรแกรมนี้เราสามารถเรียกใช้โดยตรงได้จากเมนูโปรแกรมย่อยของ LibreOffice  เช่นเดียวกัน
      Database จะเรียกใช้โปรแกรม LibreOffice Base  ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับจัดการงานเกี่ยวกับระบบฐานข้อมูล หมือนกับ Microsoft Access   โปรแกรมนี้เราสามารถเรียกใช้โดยตรงได้จากเมนูโปรแกรมย่อยของ LibreOffice  เช่นเดียวกัน   
      Fomula จะเรียกใช้โปรแกรม LibreOffice Math ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับเขียนสูตร สมการทางคณิตศาสตร์โดยเฉพาะ ซึ่งไม่มีให้ใช้ใน Microsoft Office  โปรแกรมนี้เราสามารถเรียกใช้โดยตรงได้จากเมนูโปรแกรมย่อยของ LibreOffice  เช่นเดียวกัน   
      Open... ใช้สำหรับเปิดไฟล์เก่าที่มีอยู่ในเครื่อง ซึ่งเมื่อเราเลือกเปิดไฟล์ระบบก็จะเรียกใช้โปรแกรมที่เหมาะสมให้เราโดยอัตโนมัติ
       Templates เป็นการเรียกใช้แม่แบบเอกสารต่างๆ ที่มีอยู่ในชุดโปรแกรม ซึ่งสามารถหามาใช้เพิ่มเติมได้จากแม่แบบที่ผู้ใช้ต่างๆ สร้างขึ้น ตามที่มีอยู่ในชุดโปรแกรมแล้วก็จะเป็นพวกป้ายชื่อ นามบัตร เป็นต้น ซึ่งทำให้ทำงานได้สะดวกขึ้น
      ตามที่ว่ามาก็คือโปรแกรมหลักๆ ที่มีให้ใช้ในชุดของ LibreOffice ซึ่งเราจะเห็นได้ว่ามีคุณสมบัติในการใช้งานครอบคลุมเทียบเท่ากับ Microsoft Office เลยทีเดียว

วันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เกี่ยวกับหน่วยงานที่ดูแล LibeOffice

    มีข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับ LibreOffice ที่ผู้เขียนยังไม่ได้พูดถึงรายละเอียดที่น่าสนใจในบทความตอนแรกๆ นั่นก็คือ หน่วยงานผู้ดูแลควบคุมการพัฒนา LibreOffice
    ลักษณะของซอฟต์แวร์ Opensource นั้น เป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ลิขสิทธิ์ตามข้อตกลงของ GPL (General Public License) เป็นหลัก โดยอาจจะมีสิขสิทธิ์ Opensource แบบอื่นๆ มาร่วมด้วย เช่นในกรณีของ LibreOffice ก็จะมีลิขสิทธิ์ต้นแบบเป็นของ Apache Public License ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ที่คุมครอง Apache OpenOffice.org เนื่องจาก LibreOffice ใช้ซอร์สโค้ดของ OpenOffice.org เป็นต้นแบบของโปรแกรม นอกจากนี้ก็จะมีลิขสิทธิ์ของ Mozilla Pulic License อยู่ด้วยเนื่องจากใช้สวนประกอบจากซอฟต์แวร์ที่พัฒนาจาก Mozzilla เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชุดโปรแกรม ซึ่งลิขสิทธิ์เหล่านี้ก็ล้วนแต่เป็นลิขสิทธิ์ในรูปแบบ Opensource ด้วยกันทั้งนั้น ใช้สำหรับคุ้มครองซอร์สโค้ดของระบบไม่ให้ผู้ใดแอบอ้างไปเป็นของตนเองได้ เมื่อมีการพัฒนาในส่วนใดส่วนหนึ่งของโปรแกรมที่ลิขสิทธิ์แบบนั้นๆ คุ้มครองอยู่ ผู้พัฒนาก็ต้องยอมรับว่าส่วนที่พัฒนาต่อยอดขึ้นไป ยังใช้ลิขสิทธิ์ตามแบบเดิม จะไปเหมาว่าเป็นของตนเองไม่ได้ ต้องยอมให้ผู้อื่นนำไปใช้ได้ด้วย
   เรื่องของลิขสิทธิ์ส่วนมาก็จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการพัฒนาส่วนต่างๆ ของโปรแกรมให้สามารถทำงานได้ดีขึ้น หลากหลายขึ้น ตามแต่จะมีการพัฒนาขึ้นมา แต่สำหรับผู้ใช้ทั่วๆ ไปนั้น แค่รับทราบว่าสามารถนำไปใช้ได้โดยอิสระไม่มีการหวงห้ามแต่อย่างใด แค่นี้ก็เป็นการเพียงพอแล้ว
   ส่วนหน่วยงานที่ควบคุมดูแล LibreOffice นั้นก็ได้แก่  The Document Foundation ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทั้งทางภาคเอกชนและภาครัฐ ในการมีส่วนร่วมในการพัฒนา โดยผู้สนับสนุนรายใหญ่ๆ ก็อย่างเช่น Google Intel AMD เป็นต้น (สามารถตรวจดูได้จาก http://www.libreoffice.org/about-us/advisory-board-members/)
   ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในเวปไซต์ของ Google เองในส่วนของ Google Doc ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์สำหรับการจัดการเอกสารต่างๆ ผ่านทางเวปไซต์นั้น ใช้อัลกอริทึมต่างๆ ที่ได้จากการพัฒนา LibreOffice นั่นเอง
   เราจะเห็นได้ว่า หน่วยงานที่ควบคุมดูแล LibreOffice นี้มีกลุ่มผู้สนับสนุนหลักที่มีความมั่นคง เป็นองค์กรที่เป็นที่รู้จักกันดีในวงการไอทีของโลก ซึ่งเป็นหลักประกันได้ส่วนหนึ่งว่า LibreOffice นั้นจะมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน รองรับการทำงานในอนาคตได้ สามารถนำมาใช้งานได้โดยไม่ต้องกังวลถึงความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีใดๆ ในอนาคต

วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การติดตั้ง LibreOffice ลงในเครื่องคอมพิวเตอร์

   LibreOffice สามารถติดตั้งใช้งานได้ทั้งใน Microsoft Windows, MAC OS X และ Linux ในที่นี้จะแสดงการติดตั้ง LibreOffice ลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ MS Windows เท่านั้น ซึ่งสเป็คเครื่องที่สามารถใช้งาน LibreOffice นั้น ต้องมีคุณสมบัติตามนี้คือ
  • ใช้ระบบปฏิบัติการ Microsoft Windows XP, Vista, 7 หรือ 8
  • ใช้ซีพียูอย่างต่ำ Pentium  แต่แนะนำให้เป็น Pentium III หรือ AMD Athlon เพื่อไม่ให้เครื่องช้าเกินไปจนน่ารำคาญ 
  • หน่วยความจำในเครื่อง (RAM) อย่างน้อย 256 MB แนะนำว่า 512MB ขึ้นไปจะดีมาก
  • เนื้อที่ว่างในฮาร์ดดิสก์ (ไดร์ฟ C:) อย่างน้อย 1.5 GB แนะนำให้ตำนวนด้วยว่าหลังจากติดตั้งโปรแกรมแล้วควรจะเหลือเนื้อที่ว่างไม่ต่ำว่า 2 GB เพื่อไม่ให้ระบบมีปัญหา
  • ขนาดความละเอียดหน้าจอ 1024x768 เป็นอย่างต่ำเพื่อให้ใช้งานโปรแกรมได้สะดวกหน้าจอไม่ล้น
   จะเห็นได้ว่าสเป็คเครื่องที่ใช้งานโปรแกรมได้นั้น เทียบกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานอยู่ทั่วไปในปัจจุบันเป็นสเป็คที่ต่ำมากๆ เพราะเครื่องปัจจุบัน อย่างน้อยก็ต้องเป็นเครื่อง Core2 หน่วยความจำอย่างต่ำ 1GB และฮาร์ดดิสก์ขนาดเป็นร้อยกิกาไบต์ ซึ่งมีความเร็วมากกว่าสเป็คอย่างต่ำที่ว่ามาแล้วตั้งหลายเท่าตัว

   ในการติดตั้ง LibreOffice นั้นเราต้องมีไฟล์ติดตั้งโปรแกรมที่สามารถดาวน์โหลดได้จาก http://www.libreoffice.org/download/libreoffice-fresh/  ซึ่งในปัจจุบันขณะที่เขียนบทความนี้อยู่เป็นเวอร์ชัน 4.3.0 โดยในเวปจะมีการตรวจสอบระบบปฏิบัติการที่เราใช้ให้โดยอัตโนมัติ เมื่อตรวจสอบดูแล้วว่าเวประบุระบบปฏิบัติการได้ถูกต้อง ให้ดาวน์โหลดไฟล์ในส่วนของ Main Installer โดยคลิกที่ปุ่ม DOWNLOAD VERSION 4.3.0

   เมื่อเราดาวน์โหลดเสร็จแล้ว จะได้ไฟล์ที่มีชื่อว่า LibreOffice_4.3.0_Win_x86.msi โดยจะเก็บอยู่ในโฟลเดอร์ Download ที่เราเลือกไว้แล้ว
    จากนั้นให้เปิดเข้าไปในโฟลเดอร์ที่เก็บไฟล์แล้วเปิดไฟล์ขึ้นมาโดยดับเบิลคลิกที่ไฟล์ LibreOffice_4.3.0_Win_x86.msi


    ภาพจาก www.libreoffice.org

ไดอาล็อกแรกจะเป็นหน้าต่างแนะนำโปรแกรมกับผู้ใช้ ให้คลิก Next> ไปได้เลย






    ภาพจาก www.libreoffice.org

   ต่อมาก็จะให้ป้อนข้อมูลผู้ใช้และชื่อหน่วยงาน ก็ป้อนเข้าไปตามสะดวก ภาษาไทยหรืออังกฤษก็ได้
เสร็จแล้วคลิก Next>

    ภาพจาก www.libreoffice.org


   ลำดับต่อมาเป็นการเลือกรูปแบบการติดตั้ง ให้เลือก Typical ซึ่งเป็นรูปแบบการติดตั้งมาตรฐานที่กำหนดมาแล้ว เสร็จแล้วคลิก Next>





    ภาพจาก www.libreoffice.org
   ถ้าเลือก Custom เราจะต้องเข้าไปเลือกส่วนประกอบต่างๆ ของโปรแกรมเอง ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการใช้เพียงโปรแกรมบางอย่างเท่านั้นและมีประสบการณ์ในการใช้งานโปรแกรมพอสมควรถึงจะรู้ว่าควรเลือกส่วนประกอบไหนบ้าง ตามภาพ เมื่อเลือกเสร็จแล้ว ให้คลิก Next>




    ภาพจาก www.libreoffice.org

  ต่อมาเป็นการกำหนดค่าการเปิดไฟล์ของ Microsoft Office (Word, Powerpoint, Excel) ว่าเราจะให้ LibreOffice เป็นโปรแกรมหลักสำหรับเปิดไฟล์เหล่านี้หรือไม่ ซึ่งมีให้เลือกในกรณีที่เครื่องมีการติดตั้ง MS Office อยู่ในเครื่องแล้ว ถ้าต้องการ (ในกรณีที่ไม่ได้ลง MS Office\)ก็คลิกเลือกเช็คบ๊อกซ์ให้หมด ถ้าไม่ต้องการก็ไม่ต้องเลือก เสร็จแล้ว คลิก Next>


    ภาพจาก www.libreoffice.org

 จากนั้นก็จะเป็นการตั้งค่าให้สร้างไอคอนของโปรแกรมไว้บนหน้าจอ ถ้าต้องการก็เลือกเช็คบ๊อกซ์ ถ้าไม่ต้องการก็ไม่ต้องเลือก  (ค่าปกติเลือกไว้แล้ว) เสร็จแล้วคิลก Install


    ภาพจาก www.libreoffice.org

   โปรแกรมจะแสดงความคืบหน้าของการติดตั้งให้เห็น เราก็รอไปเรื่อยๆ

    ภาพจาก www.libreoffice.org

   หลังจากติดตั้งโปรแกรมเสร็จก็จะมีไดอาล็อกซ์แจ้งมาให้เราทราบ ตามภาพ คลิก Finish

เป็นอันว่าติดตั้ง LibreOffice เสร็จเรียบร้อยแล้วครับเราสามารถใช้งานโปรแกรมได้เลย

  แถมท้าย โปรแกรมชุด LibreOffice สามารถใช้งานไฟล์ที่สร้างจากไมโครซอฟต์ออฟฟิศได้ทุกรูปแบบ ยกเว้นไฟล์ฐานข้อมูล (MS Access) ดังนั้นในการใช้งานทั่วๆ ไป จึงสามารถเปิดไฟล์ของ Word, Excel และ Powerpoint ได้ ซึ่งอาจจะมีผิดเพียนบ้างในลักษณะบางอย่าง เช่น ฟอนต์ตัวอักษร การจัดรูปแบบบางอย่างที่ซับซอ้น เช่นการจัดเวิร์ดอาร์ตต่างๆ เป็นต้น ซึ่งแม้แต่ในไมโครซอฟต์ออฟฟิศเอง ถ้าโปรแกรมที่เปิดเป็นเวอร์ชันที่ต่างจากโปรแกรมที่สร้างไฟล์ก็มีความผิดเพี้ยนได้เหมือนกัน ดังนั้นจึงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่ต้องกังวล

  ส่วนการติดตั้งลงใน Mac OSX และ Linux นั้นให้อ่านได้จากเอกสารคู่มือ  http://www.libreoffice.org/get-help/install-howto/  ซึ่งมีรูปแบบการติดตั้งแตกต่างจาก MS Windows ตามลักษณะเฉพาะของระบบปฏิบัติการนั้นๆ

  ลำดับต่อไปเราจะได้มาเรียนรู้การใช้งานโปรแกรมตั้งแต่ระดับเบสิคขึ้นไป โปรดติดตามชม


วันอาทิตย์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ทำความรู้จักกับ Libre Office กันก่อน

   การทำงานบนเครื่องคอมพิวเตอร์นั้น ส่วนมากจะนิยมใช้ในการพิมพ์เอกสารต่างๆ ทั้งเอกสารที่เป็นรูปแบบข้อความทั่วไป เอกสารตาราง เอกสารนำเสนอ เป็นต้น มีโปรแกรมที่นิยมใช้กันทั่วไปคือ Microsoft Office ของ Microsoft Cop.
Link:http://www.download.net.pl/upload/Artyku%C5%82y/office/msoff.jpg
  
   ความนิยมของ MS Office นั้นก็สืบเนื่องมาจากเป็นชุดโปรแกรมที่ใช้กันมานาน (มาก่อนก็ได้เปรียบว่างั้น) ซึ่งทำให้ผู้ใช้ทั่วไปมีความคุ้นเคยกับการใช้งานโปรแกรมดีอยู่แล้ว แต่ชุดโปรแกรมนี้ความจริงแล้วมีราคาแพงมาก (เวอร์ชันสำหรับนักศึกษาราคาอยู่ที่ สามพัน ส่วนเวอร์ชันเต็มราคาหลักหมื่น) แต่ที่ใช้ๆ กันอยู่ในปัจจุบัน ส่วนมากเป็นซอฟต์แวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ คือได้มาฟรีๆ จากการที่ไปลงโปรแกรมมาจากช่างคอมพ์ทั่วๆ ไป ผู้ใช้จึงไม่รู้สึกถึงความจำเป็นในการใช้ซอฟต์แวร์ที่ต้องซื้อมาใช้งานตามราคาจริง จึงทำให้ไม่เกิดความรู้สึกว่าจะต้องไปสนใจกับเรื่องนี้ให้เป็นกังวลทำไป ส่วนในระดับองค์กร โดยเฉพาะในส่วนของเอกชน มีความตื่นตัวในในเรื่องนี้พอสมควร เพราะมีการขอตรวจสอบลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์จากหน่วยงานที่รีบผิดชอบ ทำให้มีความจำเป็นที่ต้องซื้อลิขสิทธิ์ในการใช้งานซอฟต์แวร์มาใช้ให้ถูกต้อง หรือไม่ก็ต้องหาซอฟต์แวร์ที่สามารถใช้งานเท่าเทียมกันได้มาใช้ทดแทน
    ชุดโปรแกรม LibreOffcie เป็นชุดซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์เช่นเดียวกัน แต่ลิขสิทธิ์ของ LibreOffice นั้น กำหนดไว้ว่า สามารถนำมาใช้ได้ฟรีๆ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด สามารถนำมาพัฒนาต่อได้ด้วย แต่ต้องนำมาเผยแพร่ให้ผู้อื่นสามารถใช้งานได้ด้วย  เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ LibreOffcie นั้นพัฒนาขึ้นมาภายใต้การจดทะเบียนลิขสิทธิ์ตามแบบซอฟต์แวร์ Opensource ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาซอฟต์แวร์ดีๆ มาให้คนทั่วโลกได้ใช้งานและพัฒนาร่วมกัน (อันนี้ว่าโดยสรุปย่อๆ รายละเอียดมันมีเยอะกว่านี้มาก แต่โดยสรุปก็มีสาระตามที่กล่าวมาแล้ว)

Link:https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTglUs-q5LhjEoFklMS23JqNX01kJc-eWUXnmwAFtr-UyYYrpEyWg

  จุดเริ่มต้นของ LibreOffcie นั้น มาจาก Star Office ของบริษัท Sun Microsystems ซึ่งพยายามพัฒนาโปรแกรมชุดออฟฟิศออกมาเพื่อแข่งขันกับ MS Office นั่นเอง แต่ Star Office สามารถใช้กับระบบปฏิบัติการได้แทบจะทุกระบบ (Unix, Linux, MacOS, MS Windows)  ส่วน MS Office สามารถใช้ได้กับ MS Windows  และ MacOS เท่านั้น 
   Star Office มีส่วนประกอบของซอฟต์แวร์ส่วนมากมาจากซอฟต์แวร์ภายใต้ลิขสิทธิ์ Opensorce โดยเพิ่มเติมส่วนของโปรแกรมที่เป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของ Sun ด้วย  ต่อมาจึงได้แยกโครงการมาเป็น OpenOffcie.org ซึ่งยังอยู่ในการดูและของ Sun เหมือนเดิม แต่เป็นซอฟต์แวร์ Opensorce อย่างเต็มตัว  มีการพัฒนาฟีเจอร์ต่างๆ ในการใช้งานจนเทียบเท่ากับ MS Office
   ต่อมาหลังจาก Sun ได้รวมบริษัทเข้ากับ Oracle การพัฒนา OpenOffcie.org ก็เริ่มไม่ต่อเนื่อง จนทำให้นักพัฒนาในส่วน Opensorce ได้แยกตัวออกมาพัฒนาชุดโปรแกรมต่อ โดยให้ชื่อว่า LibreOffice โดยให้ตกอยู่ภายใต้การดูแลของ documentfoundation.org ส่วนของ Oracle ก็ได้ยกให้ OpenOffice.org ไปอยู่ในความดูแลของทีมงานพัฒนา Apache ดังนั้นจึงเปลี่ยนชื่อเป็น Apache OpenOffice.org

Link : https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEi9ZpsdEukBP4I8Jr0QPw4J1E2ZLD2TPvQqtUCQsiDhyphenhyphenW3d9Qf5JJ_AQ2LM36_VYvPWR9QWqs96dllmfGFI0Q9G8j9LmWw_h3mO_vaWINaJI7xwqRgfIK4_O6p5P8cPrHvGov3MYQnCrbWG/s1600/How+to+Install+LibreOffice+4.3.0+Beta+2+on+Fedora,+CentOS,+OpenSUSE,+OpenMandriva.png


   LibreOffice มีการพัฒนาโปรแกรมจากนักพัฒนาโปรแกรมทั่วไป ร่วมกันแก้ไขจุดบกพร่องต่างๆ พัฒนาฟีเจอร์ต่างๆ ของโปรแกรมเพิ่มเติมไปมาก ทำให้มีความสามารถในการใช้งานได้ดีกว่า Apache OpenOffice.org ซึ่งมีขีดจำกัดในการพัฒนาและไม่ค่อยมีการแก้ไขจุดบกพร่องของโปรแกรมมากนัก ดังนั้น ถ้าจะเลือกใช้ชุดโปรแกรมที่เหมาะสมจึงควรเลือกใช้ LibreOffice

หมายเหตุ:การอ้างอิงถึงองค์กรต่างๆ ในบทความนี้ยังไม่เป็นทางการเต็มที่ ผู้เขียนเน้นความเข้าในเนื้อหาของบทความเป็นสำคัญ